IoT กับเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities)

IoT กับเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities)

ในยุคของการปฏิวัติเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำและเติบโตอย่างรวดเร็ว “เมืองอัจฉริยะ” (Smart Cities) ได้กลายเป็นแนวคิดสำคัญที่ช่วยพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในเมืองใหญ่ โดยมีเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) เป็นหัวใจหลักในการเชื่อมต่อและควบคุมระบบต่างๆ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และยั่งยืน บทความนี้จะเจาะลึกถึงบทบาทของ IoT ในเมืองอัจฉริยะ ประโยชน์ที่ได้รับ และทิศทางการพัฒนาที่เกิดขึ้นในอนาคต

IoT คืออะไร?

IoT หรือ Internet of Things หมายถึงเครือข่ายของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันผ่านอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์เหล่านี้สามารถส่งข้อมูลและทำงานร่วมกันได้โดยไม่ต้องมีการแทรกแซงจากมนุษย์ ตัวอย่างเช่น เซนเซอร์, กล้องวงจรปิด, อุปกรณ์ควบคุมการจราจร, และอุปกรณ์อื่นๆ ที่สามารถเชื่อมต่อและสื่อสารผ่านเครือข่าย IoT เพื่อสร้างระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) คืออะไร?

เมืองอัจฉริยะเป็นเมืองที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลเพื่อตรวจสอบ ควบคุม และจัดการระบบต่างๆ ภายในเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการสาธารณูปโภค แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ลดการใช้ทรัพยากร และสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน

การนำ IoT มาใช้ในเมืองอัจฉริยะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ทั้งการบริหารจัดการทรัพยากร การคมนาคมขนส่ง การรักษาความปลอดภัย และการดูแลสิ่งแวดล้อม

การใช้งาน IoT ในเมืองอัจฉริยะ

  • การคมนาคมอัจฉริยะ (Smart Mobility)
    IoT สามารถช่วยพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งให้เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การติดตั้งเซนเซอร์ในถนนและไฟจราจรเพื่อปรับปรุงการจราจรแบบเรียลไทม์ หรือการจัดทำข้อมูลการเดินทางเพื่อให้ผู้คนสามารถเลือกเส้นทางที่สะดวกและรวดเร็วที่สุด
  • การจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy Management)
    ด้วย IoT เมืองสามารถติดตั้งระบบตรวจสอบและควบคุมการใช้พลังงานจากศูนย์กลางได้ อุปกรณ์เซนเซอร์ในระบบไฟฟ้าสามารถตรวจจับและจัดการการใช้พลังงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการสูญเสีย นอกจากนี้ยังสามารถสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนเช่น แสงอาทิตย์หรือพลังงานลมได้อีกด้วย
  • การบริหารจัดการขยะอัจฉริยะ (Smart Waste Management)
    ในเมืองอัจฉริยะ IoT ช่วยติดตามและจัดการการเก็บขยะอย่างมีประสิทธิภาพผ่านการติดตั้งเซนเซอร์ในถังขยะ เซนเซอร์เหล่านี้จะส่งข้อมูลเมื่อถังเต็มและแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเก็บขยะในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและทำให้การเก็บขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ (Smart Security)
    กล้องวงจรปิดที่ติดตั้งเซนเซอร์อัจฉริยะและเชื่อมต่อกับเครือข่าย IoT สามารถตรวจจับกิจกรรมที่น่าสงสัยและแจ้งเตือนหน่วยงานรักษาความปลอดภัยได้ทันที นอกจากนี้ยังสามารถใช้เซนเซอร์เพื่อเฝ้าระวังการบุกรุกหรือเหตุการณ์ที่เป็นอันตรายอื่นๆ เพื่อปกป้องความปลอดภัยของประชาชน
  • การบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ (Smart Water Management)
    เมืองอัจฉริยะสามารถใช้ IoT ในการตรวจสอบการใช้น้ำ การป้องกันการรั่วซึม, ปนเปื้อน, ระบบระบายน้ำ, ระดับน้ำในแม่น้ำ การคาดการณ์ จำลองการเกิดน้ำท่วม การเตือนภัย รวมถึงการจัดการทรัพยากรน้ำอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อดีของการใช้ IoT ในเมืองอัจฉริยะ

  • เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร
    ด้วยการตรวจสอบและควบคุมทรัพยากรต่างๆ ผ่าน IoT เมืองสามารถจัดการพลังงาน น้ำ ขยะ และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียและเพิ่มความคุ้มค่าในการดำเนินงาน
  • ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน
    IoT ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในเมืองผ่านระบบอัจฉริยะที่ทำให้การใช้ชีวิตในเมืองมีความสะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น เช่น การคมนาคมที่รวดเร็วและปลอดภัย หรือระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพสูง
  • ลดมลพิษและการใช้งานทรัพยากรที่เกินความจำเป็น
    การควบคุมการใช้พลังงานและทรัพยากรในเมืองผ่าน IoT ช่วยลดการปล่อยมลพิษและการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เมืองสามารถพัฒนาไปในทิศทางที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • การตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน
    ระบบ IoT ที่ติดตั้งในเมืองอัจฉริยะสามารถตรวจจับเหตุการณ์ที่ไม่ปกติหรือเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น อุบัติเหตุทางจราจร การเกิดอัคคีภัย หรือการก่ออาชญากรรม ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ความท้าทาย

แม้ว่า IoT จะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในเมืองอัจฉริยะ แต่ก็มีความท้าทายหลายด้านที่ต้องเผชิญ เช่น ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยไซเบอร์ การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องใช้ต้นทุนสูง และการสร้างมาตรฐานที่เป็นสากลในการเชื่อมต่อและจัดการข้อมูล

ตัวอย่างของความท้าทาย:  ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้าน Smart City โดยหลายเมืองในญี่ปุ่นได้นำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาแล้ว แต่การเกิดน้ำท่วมยังคงเป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมืองที่มีความหนาแน่นสูง และข้อจำกัดของการจัดการน้ำและระบบระบายน้ำ

แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและระบบป้องกันน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพสูง แต่การรับมือกับปัจจัยธรรมชาติต่าง ๆ ยังคงเป็นความท้าทายสำคัญ อย่างไรก็ตาม การพัฒนา Smart City ยังคงมีบทบาทสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยช่วยลดผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมให้ “หนักเป็นเบา” ผ่านการใช้เทคโนโลยี AI ที่ชาญฉลาดในการคาดการณ์และจำลองสถานการณ์ที่แม่นยำ เพื่อเพิ่มการรับรู้และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนและการวางผังเมืองที่มีประสิทธิภาพ

อนาคตของ IoT ในเมืองอัจฉริยะ

ในอนาคต IoT จะพัฒนามากขึ้นตามเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทั้งการพัฒนาเครือข่าย 5G ที่มีความเร็วสูงและรองรับอุปกรณ์มากขึ้น การใช้งานปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวดเร็ว และการเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลข้อมูลแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะทำให้เมืองอัจฉริยะสามารถตอบสนองต่อความต้องการและความท้าทายใหม่ๆ ได้ดียิ่งขึ้น

บทสรุป

IoT เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยเชื่อมต่ออุปกรณ์และระบบต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้เมืองสามารถจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ประชาชน และรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเมืองอัจฉริยะต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้านที่ต้องใช้การร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อให้เมืองอัจฉริยะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

 

 

 


 

Best Initiative Smart City Project Award

“ระบบบริหารจัดการงานสวัสดิการสังคม” ที่พัฒนาโดย iMicon System และติดตั้งใช้งานในเทศบาลตำบลอุโมงค์ จ.ลำพูน ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวด “Best Initiative Smart City Project Award” ซึ่งจัดโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบบนี้สามารถประมวลผลข้อมูลการรับแจ้งเรื่องผ่านช่องทางต่าง ๆ พร้อมทั้งบันทึกจัดเก็บข้อมูล สรุปผลการดำเนินงาน และแสดงสถานะการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ

ระบบบริหารจัดการงานสวัสดิการสังคม ตำบลอุโมงค์ (Smart Governance) โดย เทศบาลตำบลอุโมงค์ จังหวัดลำพูน
สิ่งที่ทำ: ระบบบริหารจัดการงานสวัสดิการสังคมบนเว็บแอปพลิเคชัน รับเรื่องร้องเรียนและส่งคนเข้าไปจัดการปัญหา ทำให้ได้ข้อมูลเพื่อนำไปจัดการปัญหา
ผลกระทบ: มีระบบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประชาชนได้รับความช่วยเหลืออย่างตรงจุด


1 ใน 3 โครงการชนะเลิศการนำเสนอโครงการนำร่องต่อยอดระบบบริการเมืองอัจฉริยะและเป็นนวัตกรรมต้นแบบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ได้รับรางวัล SCA#2 Award: BEST INITIATIVE SMART CITY PROJECT AWARD พร้อมรับทุนพัฒนาเมืองมูลค่ารวม 900,000 บาท ซึ่งทั้ง 3 โครงการถือเป็นโครงการที่มีศักยภาพ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาเมือง และในแผนการดำเนินงานมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อแก้ไขปัญหาของเมือง อีกทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่อย่างชัดเจน

 

 

 

เปิดตัวโครงการโดย ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) | นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน | นายกิติพัฒน์ ธนินภิตินันท์ นายกเทศมนตรีตำบลอุโมงค์

บรรยายโดยคุณพงษ์พันธ์ ธรรมวรรณ (กัปตันท้องถิ่น) รองนายกเทศมนตรีตำบลอุโมงค์

บรรยายโดยคุณพงษ์พันธ์ ธรรมวรรณ (กัปตันท้องถิ่น) รองนายกเทศมนตรีตำบลอุโมงค์

เทศบาลตำบลอุโมงค์ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะต้นแบบโครงการต่อยอดพัฒนาระบบบริการด้านสวัสดิการสังคมเทศบาลตำบลอุโมงค์ (Umong e-Social Welfare System)

 

(29 สิงหาคม 2567) เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุเทศบาลตำบลอุโมงค์ นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานเปิดกิจกรรมเปิดตัวโครงการต่อยอดพัฒนาระบบบริการด้านสวัสดิการสังคมเทศบาลตำบลอุโมงค์ (Umong e-Social Welfare System) โดยมีนายกิติพัฒน์ ธนินภิตินันท์ นายกเทศมนตรีตำบลอุโมงค์ พร้อมทีมผู้บริหาร ผ.ศ.วีระวัฒน์ พูลทวี ประธานสภาเทศบาลตำบลอุโมงค์ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลอุโมงค์ นายนิเวศร์ ปานดวง ปลัดเทศบาลตำบลอุโมงค์ นางจันทรา เกียรติเจริญ รองปลัดเทศบาลตำบลอุโมงค์ หัวหน้าสำนักปลัด ผู้อำนวยการกอง หัวหน้าส่วนราชการ ร่วมด้วย ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ท้องถิ่นจังหวัดลำพูน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำพูน สถิติจังหวัดลำพูน ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองลำพูน ผู้บริหารท้องถิ่นจังหวัดลำพูน ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน เครือข่ายตำบลอุโมงค์ เข้าร่วม

 

นายกเทศมนตรีตำบลอุโมงค์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบัน ประชากรในตำบลอุโมงค์ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างแท้จริง (Hyper- Aged Society) โดย ณ ปัจจุบัน(ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567) มีประชากรรวมทั้งหมด 12,704 คน โดยมีผู้สูงอายุเกิน 60 ปี จำนวน 4,155 คน คิดเป็น 32.71 % ซึ่งในการดำเนินการช่วยเหลือที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นการร้องขอจาก ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ผู้ประสบปัญหาด้านสุขภาพ เทศบาลตำบลอุโมงค์เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอาจจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตถ้าไม่ได้รับการวางแผนการแก้ปัญหาที่ดีและเป็นระบบโดยเทศบาลตำบลอุโมงค์ได้เข้าร่วมโครงการ The Smart City Ambassdors รุ่นที่ 2 กับดีป้า และได้ถูกประกาศรับรองเป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 พร้อมทั้งประกาศขับเคลื่อนเมืองด้วยนโยบาย อุโมงค์เมืองอัจฉริยะ (UMONG Smart City) โดย มีเป้าหมาย “อุโมงค์เมืองอัจฉริยะ แห่งคุณภาพชีวิตที่ดี” จึงได้มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการทำงานทั้งในสำนักงานและการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน เพื่อให้ก้าวทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงโดยมีสื่อและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการทำงานขององค์กร เพื่อลดขั้นตอนและสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในด้านการบริการสาธารณะ เป็นอย่างมาก ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนทุกกลุ่มวัยในการใช้บริการและให้บริการสาธารณะ


ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) หรือ ดีป้า กล่าวว่าที่ผ่านมา ดีป้า ได้ดำเนินโครงการ The Smart City Ambassadors 2 (SCA#2) นักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Seed Thailand” ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะสำคัญ พร้อมสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ มีความคิดสร้างสรรค์ และเปี่ยมไปด้วยพลังในการพัฒนาท้องถิ่น สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับเมืองสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ และมี Smart City Captain จากพื้นที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด โดยมีคนรุ่นใหม่ที่สำเร็จโครงการในฐานะ SCA รุ่นที่ 2 จำนวน 134 คน สำหรับเทศบาลตำบลอุโมงค์คือหนึ่งในผู้ชนะเวทีการประกวด SCA#2 Final Pitching และได้รับทุนสนับสนุนจาก ดีป้า เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการงานสวัสดิการ สังคม โดยมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ปรับปรุงระบบบริการและเกิดการใช้งานจริงในพื้นที่ ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างตรงจุด นอกจากนี้ยัง ช่วยลดขั้นตอนการทำงานด้านสวัสดิการสังคม เกิดฐานข้อมูลของผู้ประสบปัญหาและได้ความเดือดร้อน ทำให้ช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งยังมีการเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า นโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่รัฐบาลวาดหวังให้เป็นกลไก ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายความเจริญอย่างเท่าเทียมกันในทุกภูมิภาคของประเทศสอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และทิศทางการพัฒนาประเทศตามแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ซึ่งจังหวัดลำพูน ซึ่งจังหวัดลำพูนพร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่สนใจจะพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ในการเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการภาครัฐ และการบริหารจัดการเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ “เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัยให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อย่างยั่งยืน”

 


 

 

“การพัฒนาเมืองอัจฉริยะต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน
ที่ต้องใช้การร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อให้เมืองอัจฉริยะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต”

— ขอขอบคุณ —

Untitled         
ที่มอบโอกาสให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ Smart City

 


BESTIoT กับเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities)

Related Posts